วิจัย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ วิจัยพื้นฐาน (Basic research) และวิจัยประยุกต์ (Applied research) โดยที่วิจัยและพัฒนาหรือที่พูดย่อๆว่า R&D เป็นหนึ่งในวิจัยประยุกต์ ซึ่งแนวคิดในการทำวิจัย R&D มีมาประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว แต่เป็นการศึกษาในวงการอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพสินค้า การผลิตภัณฑ์ใหม่หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือพัฒนากระบวนการ ระบบหรือวิธีการทำงาน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่จะนำผลิภัณฑ์ออกสู่ตลาด นักการศึกษาบางกลุ่มจัดวิจัย R&D เป็นลักษณะหนึ่งของวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research)
ปัจจุบันการวิจัย R&D ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยมากขึ้น โดยเชื่อว่า การวิจัยและพัฒนาจะช่วยให้ได้ทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ วงการศึกษาก็ได้มีการนำการวิจัย R&D มาใช้ในการพัฒนารูปแบบ วิธีการสอน กิจกรรมการสอน สื่อการสอน และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
ลักษณะของวิจัย R&D
- เป็นวิจัยเชิงประยุกต์ที่มุ่งนำผลวิจัยไปพัฒนา
- มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน
- มีกระบวนการที่ต่อเนื่อง
- มีแบบแผนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่ส่วนใหญ่เป็นวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้วิธีการวิจัยเชิงทดลอง
- มีการตรวจสอบประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา และมีการเผยแพร่
การวิจัยและพัฒนามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์สภาพปัญหาให้ชัดเจน เป็นการสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ รวมถึงการศึกษา ทฤษฎี แนวคิด ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษา และสิ่งที่ต้องการพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หรือพัฒนางานให้ดีขึ้น (R1: Research ครั้งที่ 1)
ขั้นที่ 2 พัฒนาต้นแบบ ถ้าเป็นการเรียนการสอนก็จะเป็นการพัฒนารูปแบบ กระบวนการ กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ อุปกรณ์ หรือระบบการบริหารจัดการ (D1: Development ครั้งที่ 1)
ขั้นที่ 2 ทดลองใช้ต้นแบบที่พัฒนาขึ้น โดยทดลองในกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมีความสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะนำไปใช้ (R2)
ขั้นที่3 ปรับปรุงต้นแบบให้เหมาะสม (D2) และนำต้นแบบที่สมบูรณ์ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (R3) ซึ่งการพัฒนาต้นแบบมีการทำอย่างต่อเนื่อง จะพัฒนาและไปทดลองใช้กี่ครั้งขึ้นอยู่กับงานวิจัยแต่ละเรื่อง จนกว่าผู้วิจัยจะมั่นใจได้ว่าสามารถนำต้นแบบที่สมบูรณ์นั้นไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วน
ขั้นที่ 4 ประเมินประสิทธิผลของต้นแบบ และเผยแพร่ในการสร้างต้นแบบ นักวิจัยและพัฒนาจะต้องตรวจสอบและปรับปรุงต้นแบบอย่างต่อเนื่องในลักษณะของR&D
การสร้างต้นแบบนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในลักษณะของ R&D
1) ต้องศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม (Review literature)
2) สร้างต้นฉบับนวัตกรรม (Development)
3) ตรวจสอบประสิทธิภาพในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก (Research)
4) ปรับปรุงต้นฉบับ
5) ทดลองใช้ในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
6) ดำเนินการจนได้ต้นแบบนวัตกรรมที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด
7) แนวการปฏิบัติในการออกแบบวิจัยและพัฒนา
การวิจัยและพัฒนานั้นเป็นการวิจัยลักษณะหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานพัฒนาวิชาชีพ หรือการพัฒนาวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรจำนวนมากได้พยายามส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเชื่อว่า การวิจัยและพัฒนาจะช่วยให้ได้ทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ