ถอดรหัสโควิด ระลอก3 สารพัดปัญหาเรียนออนไลน์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องระลอก 2 และระลอก 3 ตั้งแต่ต้นปี 2564 เกิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมถึงภาคการศึกษาที่ต้องปรับตัว จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่าทุกความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดปัญหา เสียงสะท้อนสารพัดปัญหาการเรียนออนไลน์ของนักเรียนมีจำนวนมาก ทั้งหลักสูตรที่ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ปัญหาความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ ทั้ง คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้นักเรียนบางส่วนได้รับความรู้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร..
มาถึงการระบาดระลอก 3 ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน จากเดิมมีกำหนดเปิดเรียนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะเดียวกันเลื่อนสอบรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ออกไปด้วย พร้อมให้แต่ละพื้นที่ประเมินสถานการณ์ เพื่อจัดหารูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับบริบท โดยการเรียนออนไลน์ยังเป็นตัวเลือกหลัก ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาช่วงวิกฤตนี้อีกรอบ
เมื่อเลือกไม่ได้ ด้วยภาวะจำยอม หลากเสียงสะท้อน กับการเรียนออนไลน์ ทั้งข้อดี ข้อเสียและสิ่งที่อยากให้เร่งปรับปรุงแก้ไขถึง ศธ.
น.ส.ธญานี เจริญกูล นักเรียนชั้น ม.4 บอกชัดว่า ปัญหาสำคัญที่พบจากการเรียนออนไลน์ คือเรื่องประสิทธิภาพของการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนและครู ที่ลดลงค่อนข้างมาก ทั้งบรรยากาศ ที่ไม่ส่งเสริมกับการเรียนรู้ เด็กบางคนไม่มีห้องส่วนตัว ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน รวมถึงสื่อการสอนและวิธีการสอนของครูที่ยังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรู้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
ประสิทธิภาพของการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ระลอกแรกนั้น มีเพียง 20% เพราะแทบจะไม่ได้อะไรจากการเรียนออนไลน์เลย ตรงนี้เข้าใจได้ เพราะทุกคนเป็นมือใหม่และไม่คุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ ส่วนระลอกที่ 2 หลายคนคาดหวังว่า ศธ. อาจจะมีนโยบายและมาตรการในการรับมือที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะยังคงออกนโยบายที่เป็นเหมือนการผลักภาระให้โรงเรียน ครูและนักเรียนเช่นเดิม จึงทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์มีเพียง 40% เนื่องจากโรงเรียน และครู ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากทางภาครัฐ ทั้งด้านอุปกรณ์หรือโปรแกรมต่างๆ สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ รวมถึงนักเรียนหลายคนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนและอินเตอร์เน็ต หรือปัญหาไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้นขึ้น และหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาโดยไม่ตั้งใจ น.ส.ธญานีกล่าว
น.ส.ธญานี บอกด้วยว่า ระลอก 3 นี้ ศธ.ควรมีการการสร้างความเข้าใจการเรียนการสอนออนไลน์ให้กับครูและผู้ปกครองมากขึ้น เน้นให้ครูใช้โปรแกรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จัดการห้องเรียนได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครูและพัฒนาสื่อการสอนให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ควรให้การสนับสนุน วัสดุและอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างคล่องตัว และกระจายทรัพยากรลงไปที่ตัวเด็กให้มากขึ้น
นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บอกคล้ายกันว่า ศธ. ควรจัดทำศูนย์รวบรวมการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูล หากโรงเรียนใดมีครูที่ชำนาญในรายวิชาใด ก็ให้สอนแล้วแขวนไว้ในสื่อออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนทั้งประเทศสามารถเข้ามาเรียนได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดโอกาส วิธีการนี้จะสามารถทำให้มาตรฐานการเรียนของทั้งประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
หัวเรือใหญ่อย่าง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการวิจัยควบคู่ไปกับการถอดบทเรียนจากการเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ผ่านมา แน่นอนว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะมีการรับมือด้วยรูปแบบการเรียนออนไลน์ ซึ่งกำหนดไว้ 5 รูปแบบคือ 1.On Site 2.On Air 3.Online 4.On Demand และ 5.On Hand เป็นหลัก รวมถึงจะมีการทดลองด้วยการเรียนผ่านวิทยุเพิ่มเติม เพราะโรงเรียนในบางพื้นที่อาจจะไม่สามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์และออนแอร์ได้ แต่การเรียนผ่านช่องทางวิทยุนั้นสามารถเรียนได้แค่บางวิชาเท่านั้น ทั้งนี้ สพฐ.พยายามแก้ปัญหาอุดช่องโหว่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ในภาวะวิกฤต และไม่กระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน
ขณะนี้ สพฐ.กำลังเตรียมการสำรวจความพร้อมของนักเรียน ครู และโรงเรียน ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละประเภท เช่น ความพร้อมด้านอุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ หากโรงเรียนใดขาดแคลนเรื่องอุปกรณ์ ก็จะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาศได้เรียน ซึ่งอาจจะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ทาง สพฐ. ยังมีแพลตฟอร์มคลังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ OBEC Content Center ที่รวบรวมบทเรียนต่างๆ ไว้ เพื่อให้นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง สามารถเข้าไปศึกษาค้นหาความรู้ได้ นายอัมพรกล่าว
ปิดท้ายท้ายที่ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) บอกว่า โรงเรียนเอกชนค่อนข้างตื่นตัว และเตรียมพร้อมกับการเรียนออนไลน์มาตลอด โดยทาง สช. ได้ร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ตอัพ โรงเรียนและบริษัทต่างๆ ที่ทำการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ สร้างห้องเรียนสำหรับเรียนออนไลน์ฟรี เช่น แพลตฟอร์มการเรียนการสอน School Bright จากบริษัท จับจ่าย คอร์ปอเรชั่น จำกัด, คลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ให้นักเรียนสามารถสมัครได้ด้วยการยื่นบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ 7-ELEVEN เพื่อรับซิมการ์ดฟรีสำหรับเข้าใช้ห้องเรียน True Vroom ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเรื่องค่าอินเตอร์เน็ต
ทั้งหมดนี้เปิดให้นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ฟรี ผ่านทางเว็บไซต์ สช.(www.opec.go.th) นอกจากนี้ สช. ก็ได้รวบรวมคอนเทนต์ต่างๆ จากทรูปลูกปัญญา มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และโรงเรียนเอกชนต่างๆ เพื่อสร้างเป็นคลังสื่อการสอนออนไลน์ สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ม.6 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้
งานนี้คงต้องให้กำลังใจกันหนักๆ เพราะเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก แต่การพัฒนาในทุกอย่างยังต้องขับเคลื่อนต่อไปรวมถึง เรื่องการศึกษา ที่เร่งปรับตัวและถอดบทเรียน สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสามารถปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อสุขภาพจิตและความเสี่ยงในโรคซึมเศร้า
การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของบุคคล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย 💁🏻♀️ ตามรายงานวิจัยของสถาบันภาพยนตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Mental Health) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้เวลาในการใช้งานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงขึ้น หรือมีการสะสมความเครียดเพิ่มขึ้น การใช้สื่อสังคมออนไลน์อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของบุคคลได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจมีผลกระทบที่ดีหรือเสียต่อบุคคลแต่ละคนตามความเป็นจริงของสถานการณ์และวิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้ อย่างไรก็ตาม สื่อสังคมออนไลน์ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตได้ โดยการเข้าร่วมกลุ่มหรือชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวกับการสนทนาเกี่ยวกับสุขภาพจิต การแชร์ประสบการณ์