อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้การจ้างทำวิทยานิพนธ์ ถือเป็นอาชญากรรมในวงการศึกษาไทย เคยส่งข้อมูลหลักฐานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและดีเอสไอ แต่เงียบสนิท ไร้การดำเนินการ ยอมรับถึงเวลาที่ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด ยันจัดการปัญหานี้ยาก เพราะเป็นการสมยอมของ 2 ฝ่ายทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ขณะเดียวกันผู้รับจ้างยังมียุทธวิธีการเข้าถึงผู้ว่าจ้าง ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ มีการโฆษณาในเว็บไซต์แบบโจ๋งครึ่ม ไม่เว้นแม้กระทั่งในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ถึงขนาดขึ้นป้ายโฆษณาริมทางเชิญชวนลูกค้า ยืนยันผู้ไม่เคยทำวิทยานิพนธ์ หมดสิทธิ์เป็นอาจารย์ ม.รามฯ
การจ้างทำวิทยานิพนธ์ ถือเป็นอาชญากรรมทางการศึกษาที่ระบาดอยู่ในแวดวงการศึกษามานานกว่า 20 ปี แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายรัฐบาล มีความพยายามจะกวาดล้างเรื่องนี้ก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะลงดาบกับขบวนการนี้อย่างจริงจัง สุดท้ายเรื่องนี้จึงยังอยู่ในวังวนของวงการศึกษาไทยมาจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมีบทบาทในการดูแลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ผู้จ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” พร้อมยังวางมาตรการในการแก้ไข โดยจะขึ้นบัญชีดำผู้จ้าง และหาทางกวาดล้างผู้รับจ้าง
ทั้งนี้ “ศ.ดร.ประสาท สืบค้า” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยอมรับว่า ปัญหาการจ้างทำวิทยานิพนธ์ในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของไทย ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป หากพบว่ามีนิสิต-นักศึกษาในสถาบันที่เป็นสมาชิก ทปอ. ทั้ง 27 แห่ง ในระดับตรี โท และเอก มีการจ้างทำ หรือคัดลอกวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์จะถูกให้พ้นสภาพจากความเป็นนิสิต-นักศึกษาทันที พร้อมทั้งจะมีการส่งรายชื่อนิสิต-นักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. ทุกแห่ง เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวเข้าศึกษาต่อ
สำหรับราคาในการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ จะอยู่ที่ 20,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละสาขาวิชา จนถูกวิจารณ์ว่า ทำให้ระบบการศึกษาของไทยตกต่ำ
ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้นิติกรของ ทปอ. ไปศึกษาข้อกฎหมายด้วยว่า จะสามารถเอาผิดผู้ที่รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์ได้อย่างไร และหากพบว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับจ้างทำจะถือว่ามีความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ และจะถูกพิจารณาโทษทางวินัยของข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบันต่อไป
โฆษณารับจ้างทำวิทยานิพนธ์เกลื่อนเมือง
อย่างไรก็ดีทีมข่าวได้ทำการสืบค้นประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ พบว่ามีการดำเนินการให้เห็นทั่วไปและเข้าถึงได้ง่ายตามสื่อออนไลน์ เพียงเข้า Google พิมพ์คำว่า รับทำ-ปรึกษา วิทยานิพนธ์ ก็จะมีปรากฎให้เห็นมากมาย และสามารถติดต่อพูดคุยได้โดยง่ายเพื่อช่วยให้ผู้เรียนระดับปริญญาโท-เอก ที่ไม่มีเวลา หรือไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์เองได้ สามารถส่งวิทยานิพนธ์ได้ตามหลักสูตรการศึกษา
โดยแต่ละแห่งจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความช่วยเหลือ ด้วยระบบการทำงานแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ทั้งในรูปแบบงานวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพและอื่นๆ ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ
สำหรับการจ้างทำวิทยานิพนธ์นั้น ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง จะต้องกำหนดเงื่อนไขกันให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการให้ในส่วนใดบ้าง กี่บท หรือจะให้ทำทั้งหมด
“ตั้งแต่การคิดหัวเรื่อง การหาข้อมูล การออกแบบสอบถาม การหากลุ่มตัวอย่าง การเขียนแต่ละบท การทำข้อมูลเพื่อพรีเซนต์คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ การสรุปรวบยอดให้ผู้ว่าจ้าง การแก้ไขทุกครั้งที่ถูกคณะกรรมการสั่งให้ปรับ”
ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดในการจัดทำ จะเป็นที่มาของการกำหนดราคารับจ้างได้ชัดเจนว่า แต่ละหัวเรื่องจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างเท่าไร ซึ่งสอดคล้องกับราคาที่ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ระบุไว้ คือตั้งแต่ 20,000-500,000 บาท เพราะยิ่งหัวเรื่องยาก ค้นข้อมูลในบทวรรณกรรมมาก และแหล่งข้อมูลเข้าหายาก จะยิ่งทำให้ราคาว่าจ้างวิทยานิพนธ์สูงตามไปด้วย
แต่ถ้าเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับแรงจูงใจ หรือการสำรวจทัศนคติ ซึ่งเป็นหัวเรื่องยอดฮิตของนักศึกษานั้น มักจะมีราคาไม่สูงมาก หากไม่ใช้แบบสอบถามที่มีจำนวนหน้า และจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณมาก เพราะการทำหัวข้อดังกล่าว มักจะใช้บทวรรณกรรมที่ไม่ต่างกันมาก ไม่ซับซ้อน หรือพูดง่ายๆ สามารถก๊อบปี้กันมาได้ง่ายเช่นกัน
นอกจากจะมีการลงโฆษณารับจ้างในเว็บไซต์แล้ว เราจะพบว่าในแต่ละสถาบันการศึกษายังมีการปิดประกาศ รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ไว้เช่นกัน โดยเฉพาะตามบอร์ดคณะ หรือ ในลิฟต์ แม้ว่าคณาจารย์แต่ละสถาบันจะมีคำสั่งห้ามติดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงพบเห็นทั่วไป
Special Scoop ได้สอบถามไปยังบริษัทแห่งหนึ่งที่ประกาศรับจ้างทำวิทยานิพนธ์บนเว็บไซต์ เกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการกวาดล้างการจ้างทำวิทยานิพนธ์ที่กำลังเริ่มขึ้นนั้น พนักงานของบริษัทรับทำวิทยานิพนธ์ รับรองว่า ตั้งแต่บริษัทเริ่มเปิดให้บริการให้กับนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน มาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีนักศึกษาคนไหนเจอกับกรณีนี้ และด้วยความเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์มานาน จึงมีข้อดี คือ ไม่ทิ้งงาน ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ค่าบริการของบริษัทฯ มีราคาสูงกว่ารายเล็กอื่นๆ ที่ประกาศให้บริการในลักษณะเดียวกัน วิธีการมีแบบลักษณะการให้คำปรึกษา (Consult) และรับทำ โดยการคิดราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละสาขาวิชา และรับทำบางบทหรือทั้งเล่ม อัตราระหว่าง 20,000-500,000 บาท ส่วนการให้คำปรึกษานั้นจะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 30,000 บาทเป็นต้นไป
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจการจ้างทำวิทยานิพนธ์เติบโตและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของรัฐและของเอกชนหลายแห่ง ที่มีการระบุไว้ว่าผู้ที่จะได้รับการพิจารณาในขั้นใดบ้างที่ต้องจบการศึกษาปริญญาโท เป็นผลให้คนเหล่านี้ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม ส่งผลให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็เปิดสาขามากขึ้น รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรพิเศษขึ้นมา รองรับกลุ่มคนเหล่านี้
โดยก่อนหน้านี้หลักสูตรปริญญาโททั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ สถาบันการศึกษาจะระบุชัดว่าจะต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ หรือ ภาคนิพนธ์ เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนนั้น ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และเกิดข้อคิดค้นความรู้ใหม่ที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถได้เป็นอย่างดี
แต่ด้วยความที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ บางคนไม่มีเวลา แต่บางคนไม่อยากเสียเวลาค้นคว้า และบางคนก็มีงบประมาณไว้พร้อม ก็เลือกที่จะจ้างทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะทำให้เขาจบหลักสูตรได้ง่าย ประกอบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ต้องรับผิดชอบวิทยานิพนธ์จำนวนหลายคน/หลายเล่ม ทำให้ไม่มีเวลาในการให้คำปรึกษา และนักศึกษาบางคนก็ไม่เข้าใจในการค้นคว้า การเขียน การออกแบบสอบถาม เพื่อทำวิทยานิพนธ์ จึงเลือกที่จะจ้างทำเช่นกัน
อธิการบดี ม.รามฯ เปิดโปงให้ดีเอสไอ เล่นงานแต่เงียบ
ด้าน ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคําแหง กล่าวกับ Special Scoop ถึงปัญหาการจ้างทำวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์ว่า เกิดจากความมักง่ายของคนที่เรียนหนังสือแล้วที่ไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช้ความสามารถเรียนด้วยตัวเอง แต่ไปจ้างทำวิทยานิพนธ์ ทั้งผู้จ้าง และผู้รับจ้าง ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางวิชาการที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา
ซึ่งสถาบันศึกษาต่างๆ ยังไม่สามารถเล่นงานทั้งผู้จ้าง และผู้รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ได้ เนื่องจากหาตัวไม่เจอ และถือว่าต้องเผชิญความยากลำบากมาก เพราะทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้จ้างและผู้รับจ้างต่างสมยอมช่วยกันปกปิด ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้การตรวจสอบไปไม่ถึงตัวผู้รับจ้าง ขณะที่ผู้จ้างก็บอกว่าตัวเองเป็นคนทำวิทยานิพนธ์นี้ขึ้นมาเอง
ที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ แห่งพยายามหาวิธีการสกัดกั้น เช่น ทปอ.มีการพูดกันถึงการใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการใช้กันอยู่ เป็นเครื่องตรวจสอบงานวิทยานิพนธ์และงานสารนิพนธ์ ยกตัวอย่างวิทยานิพนธ์ที่เป็นของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถ้าไปโผล่ที่อื่นก็สามารถตรวจสอบได้ นี่เป็นความพยายามในการหามาตรการป้องกันและตรวจสอบ แต่วิธีการนี้ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ถึง 100%
ในส่วนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเดินหน้าจะดำเนินการกับผู้รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ขั้นเด็ดขาด เพราะมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ขึ้นเว็บไซต์กันอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และในพื้นที่ต่างจังหวัดยิ่งหนักถึงขนาดขึ้นป้ายโฆษณาหน้าสำนักงานที่เปิดบริการรับจ้าง ตลอดจนการรับจ้างอำนวยความสะดวกในการเรียน โดยอ้างว่าจะทำให้นักศึกษาเรียนจบได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆของผู้รับจ้าง ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอ ให้ช่วยดำเนินการเสาะหาผู้ที่อยู่ในขบวนการนี้ ผ่านมา 2-3 ปีจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ไม่แน่ใจว่าติดขัดอะไร หรือเป็นข้อกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาได้ ปัญหาจึงยังคงมีอยู่จนถึงวันนี้
ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวถึงที่มีการตั้งคำถามกันว่า ปัญหานี้เกิดจากสัดส่วนระหว่างอาจารย์ และนักศึกษาไม่พอดี จึงทำให้การดูแลตรวจวิทยานิพนธ์ ขาดประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะสัดส่วนอาจารย์และนักศึกษาต่อให้เหมาะสมแค่ไหน คนก็สามารถจะเป็นโจรได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่จบมาด้วยการทำวิทยานิพนธ์เองก็มีอยู่มาก บางคนอาจใช้เวลานานถึง 3 ปีก็มีแต่ก็สำเร็จ ส่วนคนที่ไปจ้างแล้วยังชูคออยู่ในสังคมพวกนี้คงเรียกหาความละอายใจจากเขาไม่ได้
และที่กล่าวว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ก้าวสู่ธุรกิจการศึกษา เน้นหาแต่รายได้จนลืมเรื่องคุณภาพนั้น ไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นของตัวบุคคลที่มีนิสัยมักง่ายฉาบฉวย และมองประโยชน์แค่วุฒิการศึกษา อันที่จริงแล้ววุฒิการศึกษาต้องมาพร้อมกับความรู้ และคุณธรรม คนเหล่านี้เน้นที่ตัวปริญญามากไม่เน้นการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง
ม.รามฯ งัดมาตรการลงโทษถึงขั้นไล่ออก
นอกจากนี้ หากจับได้ว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ จะถือเป็นการทำผิดที่มีโทษรุนแรง และไม่สามารถที่จะอภัยให้ได้ โดยจะถูกลงโทษ “ไล่ออก” สถานเดียว
ในส่วนนักศึกษาผู้ว่าจ้าง หากตรวจสอบว่ามีการลอกเลียนวิทยานิพนธ์นั้น จะต้องยอมให้ถอดถอนปริญญาภายหลังได้ ซึ่งวิธีการนี้เริ่มนำร่องที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มานานเกือบ 20 ปี โดยให้มีการเขียนหนังสือคำมั่นสัญญาต่อกันไว้ท้ายเล่ม ในข้อความที่ว่า “ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดทำขึ้นมาเอง หากว่ามีการตรวจสอบพบในภายหลังว่า เป็นวิทยานิพนธ์ที่จ้างทำหรือเป็นการลอกเลียนของที่อื่นมา และหากมีส่วนสำคัญ หรือสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นดังที่กล่าวมา ข้าพเจ้ายินดีให้มหาวิทยาลัยถอดถอนปริญญา”
ทั้งนี้ได้กำชับคณบดีทุกคณะให้ซักไซ้ไล่เรียงลูกศิษย์เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์เอง เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องช่วยกันเข้มงวดกวดขัน ในขณะที่คนแสวงหาประโยชน์เองก็พยายามจะรุกคืบเข้ามา อาจารย์ที่ปรึกษาในสัดส่วน 1 คนต่อนักศึกษา 10 คน ในฐานะที่เป็นปราการด่านแรก ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เข้ามาในสถานศึกษาของเรา และต้องช่วยกันรณรงค์กวาดขยะพวกนี้ออกไปจากวงการการศึกษาให้ได้
ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี เมื่อรัฐบาลยุคนี้ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหากว่าการแก้ปัญหา ติดขัดที่ด้านข้อกฎหมาย เพราะไม่สามารถดำเนินการหาผู้กระทำผิดได้ จะได้มีการดำเนินการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้สามารถยุติเรื่องการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์ได้อย่างเด็ดขาด คนที่ไปจ้างบางครั้งไม่รู้ว่าคนที่รับจ้างไปลอกวิทยานิพนธ์คนอื่นมา เรื่องนี้เป็นเพราะพวกปลวกการศึกษาทั้งหลายนั้น มีส่วนทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงไปทุกวัน
ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการเปิดหลักสูตรใหม่ออกมามาก มีวิธีการควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดมาตลอด และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆที่มีการประกันคุณภาพ โดยมีการเปิดสำนักงานประกันคุณภาพภายใน ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการประกาศรับสมัครอาจารย์เข้ามาสอนนักศึกษา ก็ต้องคัดเลือกอาจารย์ที่มีคุณภาพและความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์
ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวด้วยว่าในด้านการดูแลนักศึกษา แม้ว่าจะมีจำนวนที่มากก็ตาม แต่อาจารย์ต้องไม่ทอดทิ้งนักเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาต้องมีเวลาให้นักศึกษาเข้าหา และปรึกษาได้ รวมถึงการควบคุมการสอบนั้น เป็นที่รู้กันว่า ที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องการคุมสอบมาก และข้อสอบมีหลักประกันที่เชื่อได้ว่าไม่มีทางรั่วไหล ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ดำเนินการกันอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับการทำวิทยานิพนธ์ที่มีการกำชับว่า อาจารย์เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่ต้องไปทำหน้าที่ จึงต้องควบคุมดูแลลูกศิษย์ให้มีคุณภาพอย่างจริงจัง คนที่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์เองเมื่อถูกซักถามมากๆ จะตอบไม่ได้ ที่นี่ควบคุมกันเต็มที่ไม่ปล่อยออกไปง่ายๆ ดังที่กล่าวกันมานานว่า “เรียนรามเข้าง่ายออกยาก”
ขณะที่มีการเปิดหลักสูตรปริญญาโทที่ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์นั้น ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพด้อยลง เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีการเปิดหลักสูตรที่เรียกว่า หลักสูตร “แผน ข.” ซึ่ง 1 คณะสามารถเปิดสอนแผน ข. ได้เพียง 1 สาขาวิชา และในบางคณะเป็นสายวิชาที่ต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไม่มีการเปิดสอนหลักสูตรแผน ข. ในระดับปริญญาโท
โดย “แผน ข.” มีข้อแตกต่างจากหลักสูตรเดิม คือ ต้องมีเวลาเรียนเพิ่มขึ้น และมีการทำสารนิพนธ์ งานวิจัยอิสระ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แตกต่างกัน เรียกได้ว่า เป็นงานเขียนวิทยานิพนธ์ฉบับย่อย มีหลักเกณฑ์ที่เปิดหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์คนที่ไม่สะดวกก็เลือกเรียน “แผน ข.” ก็ได้ แต่ก็ยังมีนักศึกษาไม่น้อยที่เลือกเรียน “แผน ก.” ขณะที่คนที่เรียนจบ “แผน ข.” ไม่ได้เรียน “แผน ก.” มานั้น การจะมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่รับให้เป็นอาจารย์โดยเด็ดขาด
เปิดหลักสูตรแผน ข.ช่วยลดอัตราจ้างทำวิทยานิพนธ์
ทั้งนี้การจะเลือกเรียนต่อในแผน ก. หรือแผน ข. นั้นอยู่ที่เป้าหมาย และเวลาของแต่ละคน ซึ่งความแตกต่างของการเรียนแผน ก. เป็นการศึกษาในเชิงลึกที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ ที่มีการคิดค้นความรู้ใหม่ จึงสามารถจบการศึกษาได้ เพราะเป็นการฝึกให้คิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักวิชาการ
ในการเรียนแผน ข. ตอบโจทย์คนที่ทำงานประจำและไม่มีเวลาในการศึกษาค้นคว้า แต่มีเป้าหมายต้องการเรียนต่อเพื่อยกระดับหน้าที่การงาน และต่อยอดความรู้เดิม และ อาจจะเป็นทางออกในการลดจำนวนผู้จ้างทำวิทยานิพนธ์ลงได้ หากผู้เรียนมีความต้องการหาความรู้ และมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ขณะที่ผู้รับจ้างทั้งที่เป็นลักษณะบริษัท หรือเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิและมีความรู้ต้องมีความละอายต่อการแสวงหารายได้บนทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น เพราะถือเป็นเหลือบที่ทำลายระบบการศึกษาอย่างน่าละอายและไร้เกียรติ และไร้ซึ่งจรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญคือ คนรุ่นต่อไปจะไร้ซึ่งความสามารถในการผลิตวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาไทย และบุคลากรที่จบมาก็จะไม่มีคุณภาพ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://m.mgronline.com/specialscoop/detail/9580000099113