รับทำธีสิสมีอยู่จริง ทุกคนรู้ โลกรู้ : ทำไมการจ้างทำวิทยานิพนธ์ยังคงอยู่ในสังคมไทย?
Posted On 16 September 2020 Ployrung Sibplang
ADVERTISEMENT
IS ธีสิส รายงานวิชาการ งานวิจัย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ใครต่อใครเสียน้ำตามากมาย แถมยังต้องทุ่มเทพลังกาย พลังใจ จนเบิร์นเอ้าต์กันไปมากมายก็มี และอาจทำให้ใครบางคนเลือกไปใช้ทางลัดจากการจ้างทำ
ซึ่งการจ้างทำธีสิสมีอยู่จริง และคุณสามารถเสิร์ชหาในกูเกิ้ลได้โดยง่ายและมีมากมายให้เลือกจนเหมือนธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ทำกันจนเคยชิน บางแห่งให้ข้อมูลว่าทำมาเป็นสิบปี โดยราคาก็จะเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน มีการรับทำตั้งแต่ช่วยคิดหัวข้อ หรือทำเป็นบทๆ หรือจะให้ทำทั้งเล่ม นอกจากนี้ก็ยังมีการช่วยติวการสอบวิทยานิพนธ์ เผื่อเตรียมตอบคำถามกับอาจารย์ โดยระยะเวลาในการรับจ้างทำอยู่ที่ประมาณ 30 วัน โดยบางแห่งมีการอ้างว่าการรับทำวิทยานิพนธ์ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่เป็นเพียงผู้ช่วยค้นคว้าข้อมูล และทำให้ผู้ระบบริการไม่ต้องเสียเวลาในการทำงาน
อย่างไรก็ตามมีกฎหมายจาก พรบ. การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับการจ้างวานทำวิทยานิพนธ์ คือ
“มาตรา 70 เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการอุดมศึกษา หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร
มาตรา 77 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งบางครั้งธุรกิจนี้ก็หลบเลี่ยงการใช้คำพูดว่าเป็นการจ้างทำวิทยานิพนธ์ตรงๆ โดยไปใช้คำว่า ‘ให้คำปรึกษาในการทำวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล’ เพื่อให้สามารถจดทะเบียนการทำธุรกิจอย่างถูกกฏหมาย และทำให้เรายังคงเสิร์ชเจอได้ง่ายๆ
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อะไรทำให้ธุรกิจนี้เติบโตในโลกของการเรียนการศึกษาในไทย
ใบปริญญา = ใบเบิกทาง
ในประเทศที่ใบปริญญาคือใบเบิกทางสู่การยกระดับฐานะทั้งการงาน การเงิน หน้าตา ชื่อเสียง จึงไม่แปลกที่การเรียนจบสูงๆ ได้ใบปริญญาหลายใบ หรือจบปริญญาเอกให้ได้ จะเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ ซึ่งหากการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ไม่ได้มาจากความต้องการในการเรียนรู้ หรือสนใจเรื่องราวใดเป็นพิเศษ ความอยากหรือความสนใจในการเรียนหรือทำวิทยานิพนธ์จึงชวนให้หมดพลังโดยง่าย เพราะมองไม่เห็นว่าจะต้องทุ่มเทพลังไปเพื่ออะไร เป้าหมายจึงกลายเป็นทำยังไงก็ได้ให้ได้ปริญญามาครอบครอง
ADVERTISEMENT
และเพราะการทำงานวิจัยนั้นต้องใช้พลังงานมหาศาลนั่นเอง ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เกิดมาเพื่อรองรับความสะดวกสบายเหล่านั้น
ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เราอาจะต้องกลับมาทบทวนเป้าหมายของการเรียนในระดับสูงว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร หรือสิ่งนี้กำลังสะท้อนระบบการศึกษาที่ล้มเหลวเมื่อผู้เรียนไม่ได้ต้องการความรู้ แต่ต้องการความสำเร็จมากกว่า ทั้งๆ ที่ การทำวิทยานิพนธ์นั้นเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้ได้รูปเล่มสำเร็จ แต่คือการค้นคว้าและความเข้าใจที่เกิดขึ้นในระหว่างทางที่นั่งทำวิทยานิพนธ์ แต่เพราะรูปแบบวิธีคิดที่ไม่ได้เน้นไปที่ว่าคุณได้เรียนอะไร แต่กลับเน้นไปที่คุณจบระดับไหน จึงกลายเป็นหล่มทางการศึกษาที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของใครบางคน
‘ระบบ’ ที่อาจยังขาดการตรวจสอบ
โดยตามปกติแล้วเวลาส่งวิทยานิพนธ์ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์หรือวิธีการในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์นั้นๆ โดยมีทั้งอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาที่จะคอยเช็กความคืบหน้าเสมอ ซึ่งจะรู้จักตัวคนทำเป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็ยังมีกรรมการในการสอบวิทยานิพนธ์ ซึ่งจะช่วยคัดกรองคนที่อาจไปจ้างทำมาได้ผ่านการสอบและตอบคำถาม เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์นั้นๆ แต่ก็ยังมีวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการจ้างทำหลุดรอดออกมา
จากการสำรวจของเรา มีผู้ให้บริการแห่งหนึ่งอ้างว่ารับทำวิทยานิพนธ์แล้วกว่า 2,500 เล่ม แปลว่าในโลกวิชาการอาจมีงานที่มาจากการจ้างเป็นจำนวน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของฐานข้อมูลวิชาการในไทยอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อไปคือ กระทรวงอุดมศึกษาเองมีขั้นตอนหรือออกแบบระบบยังไงให้การตรวจสอบวิทยานิพนธ์นั้นสามารถคัดกรองวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการจ้างได้ และทำให้ผู้ที่สามารถจบการศึกษาในระดับสูงนั้นมีคุณภาพอย่างแท้จริง
การพึ่งพาแต่อาจารย์และมหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องไปให้ถึงระบบการตรวจสอบที่มาจากองค์กรที่เชื่อถือได้ เพื่อให้วงวิชาการได้รับวิทยานิพนธ์ หรืองานด้านวิชาการมีศักยภาพที่ดีพอ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป ไม่ใช่มีเพียงแต่งานวิจัยที่ไม่รู้จะนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาหรือทำความเข้าใจสังคมได้อย่างไร
เพราะสุดท้ายเป้าหมายของการเรียนคือความรู้ที่เชี่ยวชาญ และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็จะช่วยผลักดัน แก้ไข ทำความเข้าใจสังคมจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าปัญหาการทำวิทยานิพนธ์ยังคงตกอยู่วังวนของความต้องการเพียงแค่ใบปริญญา แต่ไม่สนใจความรู้เนื้อหาที่ได้รับ สุดท้ายแล้วก็กลับไปสู่คำพูดที่ว่าการศึกษาไทยกำลังจะล้มเหลว?
llustration by Monsicha Srisuantang