การเขียนบทความทางวิชาการ (ตอนที่ 1)
ปัจจุบันการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนับเป็นการเผยแพร่ที่มีอิสระมากที่สุดผู้บริโภคข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวจำเป็นต้องรู้จักเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสาร นอกจากการเลือกเรื่องที่อ่านแล้วสิ่งที่สำคัญคือ การตัดสินใจให้คุณค่าหรือเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อข่าวเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการไม่ว่าจะผ่านสื่อประเภทใด ก็มีลักษณะที่เหมือกันคือจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและจะต้องมีทีมผู้เชี่ยวชาญอ่านและคัดกรองก่อนที่จะนำมาเผยแพร่ ดังนั้นผู้ที่จะเขียนบทความหรือความรู้ทางวิชาการจะต้องมีความรู้ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่จะเขียนแต่ต้องมีความรู้ในวิธีการเขียนด้วย
คำว่า “งานวิชาการ” หรือ “เอกสารวิชาการ” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง แปลได้ตรงตัวว่า หมายถึง เอกสารทั่วไปที่เป็นวิชาการ และนับรวมถึงเอกสารประกอบการเรียน เช่น ตำรา หนังสือวิชาการ งานแปล งานวิจัย และบทความวิชาการ งานวิชาการมีประโยชน์ทั้งต่อผู้อ่านและผู้เขียน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่แต่ละคนตั้งไว้ เช่น ผู้อ่านงานวิชาการเพราะต้องการหานำความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงาน ส่วนผู้เขียนก็ต้องการเขียนเพื่อเผยแพร่สิ่งใหม่ๆ ที่ตนค้นพบให้ผู้อื่นทราบ เป็นต้น
งานวิชาการแต่ละเรื่องจึงมีประโยชน์ที่หลากหลาย การจัดทำเอกสารทางวิชาการแต่ละประเภทนั้น จะมีเทคนิคและวิธีการที่เหมือนและแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการเขียนบทความทางวิชาการ เนื่องจากการเขียนบทความเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ ให้แก่ผู้อ่านได้ในวงกว้าง และสามารถเขียนเรื่องได้หลากหลาย เช่น เพื่อแสดงความรู้ เสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์วิจารณ์ ฯลฯ โดยต้องเขียนอย่างมีหลักฐาน มีเหตุผล น่าเชื่อถือ หากมีข้อเสนอแนะใดๆ ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ตลอดจนมีช่องทางเผยแพร่ที่กว้างขวาง และเป็นวิธีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง
ความหมายของบทความวิชาการ
“บทความทั่วไป” (General article) เป็นข้อเขียนที่มีลักษณะเป็นความเรียงที่มีลักษณะพิเศษผิดจากเรียงความ ตรงที่เป็นการเขียนที่เขียนขึ้นโดยมีพื้นฐานข้อเท็จจริง มีมูลเหตุมาจากเรื่องราว ข่าวสารที่ผู้เขียนแทรกข้อเสนอแนะเชิงวิจารณ์หรือเชิงสร้างสรรค์ขึ้น โดยผู้เขียนสามารถ นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในรูปแบบอิสระ ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นรูปแบบที่ตายตัว อาจนำเสนอเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อให้ความรู้ ซึ่งผู้เขียนบทความในลักษณะนี้อาจนำบทความทางวิชาการมาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านสนุกและเข้าใจง่ายขึ้น สำหรับ “บทความวิชาการ” (Academic article) เป็นบทความประเภทหนึ่ง ที่มีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ก็ได้ ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวความคิดเดิมหรือแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อ ให้ผู้อ่านปรับแนวความเชื่อเดิมมาสู่ความคิดที่ผู้เขียนเสนอ นอกจากนี้อาจเสนอผลการวิจัย โดยการเขียนจะต้องอาศัยหลักฐานอ้างอิงและเหตุผลที่สนับสนุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความวิชาการ
วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความวิชาการมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วจะต้องการให้ผู้อ่านได้รับ ความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น แนวทางปฏิบัติ วิธีการแก้ปัญหา ข้อคิด แรงบันดาลใจ ข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะ ในการเขียนบทความวิชาการแต่ละครั้งผู้เขียนควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ของการเขียนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากบทความในด้านใด เพราะในการเขียนบทความทางวิชาการถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อาจมีวิธีการนำเสนอแตกต่างกัน หากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการเขียนต่างกัน ในการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความวิชาการนั้น ผู้เขียนจะต้องตอบคำถามตามหลัก 5 W 1H ก่อนที่จะทำการเขียนบทความวิชาการเพื่อเป็นแนวในการกำหนดทิศทางของการเขียนและรูปแบบวิธีการนำเสนอเนื้อหาในบทความวิชาการดังกล่าว โดยหลัก 5 W 1H ประกอบด้วย
Who “จะเขียนให้ใครอ่าน” ผู้เขียนบทความวิชาการจะต้องทราบกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าบทความดังกล่าวจะนำเสนอให้กลุ่มผู้อ่านที่เป็นกลุ่มหลักคือใคร เช่น นักศึกษา นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วๆ ไป เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากจะได้กำหนดวิธีการนำเสนอและเรื่องได้เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่าน ตลอดจนเป็นแนวทางในการวางโครงเรื่องและการยกตัวอย่างในเนื้อหา
What “จะเขียนเรื่องอะไร” หลังจากที่ได้กำหนดชัดเจนแล้วว่าจะเขียนบทความวิชาการให้กับใครอ่าน คำถามต่อมาที่ต้องตอบคือ จะเขียนเรื่องอะไร ซึ่งเรื่องที่จะเขียนจะต้องสอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านด้วย เช่น หากผู้อ่านเป็นเยาวชน หากจะเขียนบทความวิชาการ เรื่อง กฎหมายไทย ให้กับผู้อ่านกลุ่มนี้คงไม่ได้รับความสนใจ แต่อานเขียนเจาะเฉพาะกฎหมายที่มีผลต่อเยาวชน เช่น หากเยาวชนทำผิดกฎหมายจะมีมาตรการการลงโทษอย่างไรบ้าง
Where “จะเขียนเพื่อเผยแพร่ที่ไหน” สำหรับแหล่งที่จะเผยแพร่นั้นก็มีความสำคัญ เพราะแหล่งเผยแพร่แต่ละแห่งจะมีวัตถุประสงค์เฉพาะหรือมีกลุ่มผู้อ่านเฉพาะ เช่น เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย เผยแพร่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ หรือวารสารบันเทิง ลักษณะการเขียนบทความวิชาการจะต่างกัน นอกจากนี้รูปแบบการเขียน การอ้างอิง ลำดับหัวข้อของบทความที่เสนอผ่านแหล่งที่แตกต่างกันก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งผู้เขียนจะต้องรู้ว่าจะเผยแพร่บทความดังกล่าวผ่านแหล่งใดและศึกษารายละเอียดของหัวข้อที่วารสารหรือแหล่งเผยแพร่นั้นๆ กำหนดไว้อย่างละเอียด
When “เวลาที่จะนำบทความลงเผยแพร่คือเมื่อใด” การรู้ช่วงเวลาที่จะเผยแพร่บทความนับเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากบทความบางเรื่องหากนำเสนอในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะไม่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน หรือหากนำเสนอพ้นช่วงเวลาที่ควรนำเสนอแล้วบทความนั้นจะไม่ได้รับความสนใจหรืออาจถึงขั้นไม่มีผู้อ่าน เช่น หากจะนำเสนอบทความวิชาการเรื่อง “ประเด็นที่ควรคำนึงถึงในการจัดทำรัฐธรรมนูญ” ควรนำเสนอบทความดังกล่าวในช่วงก่อนที่จะมีการจัดทำ รัฐธรรมนูญ หรือ ช่วงเวลาที่กำลังมีการจัดทำฉบับ “ร่าง” แต่หากเขียนบทความดังกล่าวหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เรื่องดังกล่าวจะดูล้าสมัยไป แต่สามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเป็นเรื่อง “ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ” หรือ “ประเด็นที่ควรไทยควรรู้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แทนเรื่องเดิม
Why “จะนำเสนอเรื่องนี้ทำไม” นอกผู้ที่จะเขียนบทความวิชาการจะต้องตอบคำถาม Who What Where และ When แล้ว จะต้องอธิบายถึงเหตุผลของการเขียนบทความวิชาการว่าจะเขียนเรื่องดังกล่าวทำไม ซึ่งจะเชื่อมโยงถึง คำถาม Who What Where และ When เช่น จะเขียนเพื่อใช้สอนนักศึกษา จะเขียนเพื่อไม่ให้คนไทยถูกหลอก หรือจะเขียนเพื่อเผยแพร่กฎหมายให้ประชาชนทั่วไปทราบ
How “จะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร” สำหรับหัวข้อนี้ผู้เขียนบทความวิชาการจะต้องกำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อยๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้ง่าย ไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่สับสน ไม่กล่าวซ้ำซาก ไม่นอกเรื่อง
ประเด็นที่ผู้เขียนบทความวิชาการที่ยึดตามหลัก 5 W 1H ต้องคำนึงถึงคือ ความเชื่อมโยง ต่อเนื่องและสอดคล้องในแต่ละข้อของ 5 W 1H เพื่อไม่ให้ผู้อ่านบทความสับสน และผู้เขียนบทความเองก็จะได้ไม่หลงประเด็น
ในส่วนขององค์ประกอบของบทความวิชาการและเทคนิคการเขียน ติดตามได้ในฉบับต่อไปนะคะ
เอกสารอ้างอิง
นภาลัย สุวรรณธาดา และคณะ (2548) การเขียนผลงานวิชาการและบทความ กรุงเทพมหานคร : หจก.ภาพพิมพ์
ทนง โชติสรยุทธ์ (2524) คำแนะนำในการเขียนบทความที่ดี กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่นจำกัด
(มหาชน)