ปัญหาวิจัย (research problem) ข้อความ หรือคำถามที่นักวิจัย กำหนดเพื่อศึกษาหาวิธีแก้ไข
คำถามวิจัย (research question) คำ ถามที่นักวิจัยกำหนดขึ้นเพื่อหาคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาวิจัย นิยมตั้งคำถามวิจัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไปมีลักษณะอย่างไร
หลักเกณฑ์ของการกำหนดปัญหาวิจัย
ปัญหาการวิจัยที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แม้ว่าการเขียนปัญหาการวิจัยจะไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอน แต่การตั้งปัญหาการวิจัยควรมีหลักเกณฑ์ที่นำพิจารณา 3 ประการ คือ
1. ปัญหาควรปรากฏในรูปของ “ความสัมพันธ์” ระหว่างตัวแปรสองตัว หรือเกินกว่าสองตัว เช่น A เกี่ยวข้องกับ B ไหม A และ B เกี่ยวข้องกับ C อย่างไร A เกี่ยวข้อง B โดยมีเงื่อนไข C และ D หรือไม่
2. ปัญหาต้องกำหนดให้ชัดเจน ไม่กำกวม โดยกำหนดในรูป “คำถาม” การตั้งคำถามมีข้อดีทำให้สามารถสื่อให้เห็นปัญหาได้โดยตรง
3. การกำหนดปัญหาควรเขียนในรูปที่สามารถทดสอบเชิงประจักษ์ หรือ จากสภาพความเป็นจริงได้ ปัญหาการวิจัยนอกจากแสดง “ความสัมพันธ์” แล้ว ตัวแปรที่สัมพันธ์กันต้องสามารถนำไป “วัดได้” (measured)
การกำหนดปัญหาการวิจัยเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับนักวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้น ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ
- ปัญหานักวิจัยทำการรวบรวมข้อมูลมาก่อน แล้วมาตั้งปัญหาภายหลัง ผลคือข้อมูลที่ได้มานั้นไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะตอบปัญหาที่ตั้งไว้ได้ วิธีแก้ก็คือควรกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัยให้แน่นอน เสร็จแล้วจึงลงมือเก็บข้อมูล ควรจำไว้ว่า ปัญหาการวิจัย เป็นตัวชี้แนะในการเก็บข้อมูล ไม่ใช้ข้อมูลเป็นตัวชี้นำการตั้งปัญหา
- การตั้งปัญหากำกวม ไม่เอื้ออำนวยให้เก็บข้อมูลได้ ปัญหาที่ดีจะต้องอยู่ในรูปของคำถามซึ่งประกอบไปด้วยตัวแปรอย่างน้อยสองตัว โดยที่ตัวแปรเหล่านั้นแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย
- ปัญหากว้าง ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่นักวิจัยเผชิญคือปัญหามีลักษณะกว้างเกินไป ถ้าปัญหามีลักษณะกว้างมักจะครุมเครือ ไม่อาจทดสอบได้ จึงไม่มีประโยชน์ถึงแม้จะน่าสนใจก็ตาม ปัญหาที่กว้างและครุมเครือเกินไป จะพบเห็นได้ในสังคมศาสตร์
- ปัญหาที่ไม่ได้มาจากผลการวิจัย การตั้งปัญหาไม่ได้อาศัยพื้นฐานจากผลการวิจัย แบบจำลองและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องแต่ประการใด วิธีแก้ก็คือ จะต้องสร้างปัญหาโดยอาศัยพื้นฐาน แนวคิดจากผลการวิจัย แบบจำลองและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเสมอ